ถนนสายประวัติศาสตร์ "ถนนต้นยางนา" ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106
ถนนสายประวัติศาสตร์ "ถนนต้นยางนา" ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 หรือที่เรียกขานกันว่า เชียงใหม่-ลำพูน (ถนนสารภี)
ในสมัยก่อนชื่อเดิมของอำเภอสารภี คือ "ยางเนิ้ง" ซึ่งน่าจะมีเหตุมาจากต้นยางที่มีลักษณะ "เนิ้ง" หรือ "โน้ม" เข้าหากัน กระทั่งปี พ.ศ. 2472 จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอยางเนิ้ง มาเป็น "อำเภอสารภี" ตามชื่อของดอกไม้ที่มีแพร่หลายอยู่ในอำเภอนี้ ส่วนประวัติของการปลูกต้นยางบนถนนสายประวัติศาสตร์ นี้ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2442 ในสมัในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งสยามประเทศได้มีการจัดการปกครองส่วนภูมิภาคจากเมืองประเทศราช มาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวงจากกรุงเทพ มาปกครอง เชียงใหม่ รัฐบาล ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง ให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง "เจ้าหลวง" เอาไว้เป็นประมุขของเชียงใหม่
โดยสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่อยู่ในความดูแลของ
เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ท่านได้นำนโยบาย ที่เรียกว่า “น้ำต้อง กองต๋ำ” อันหมายถึงนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำ การตัดถนนหนทางและการปรับปรุงถนนหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่สัญจรไปมา จึงได้มีการกำหนดให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกันคือ **ถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้ปลูกต้นไม้เมืองหนาว ถนนรอบคูเมือง ให้ปลูกต้นสัก และต้นสน ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ให้ปลูกต้นประดู่ ถนนสายเชียงใหม่-หางดง ให้ปลูกต้นขี้เหล็ก ถนนสายเชียงใหม่-สารภี ให้ปลูกต้นยาง และเมื่อเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก**
ต่อมา ได้มีการปรับปรุงและขยายเส้นทางสายนี้ให้กว้างขึ้น ทำให้เส้นทางสายนี้สภาพดีขึ้นและมีความกว้างเท่ากันตลอดทั้งเส้น เป็นที่มาของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเมื่อประมาณปี พ.ศ.2445 - พ.ศ.2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้มีการปลูกต้นยางสองข้างทางในเขตเชียงใหม่ และปลูกต้นขี้เหล็ก ในเขตลำพูน และมีการกำหนดกฎระเบียบ ในการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเลี้ยงสัตว์บนเขตถนนและที่ทำการของราชการ ให้ชาวบ้านรับผิดชอบดูแลรดน้ำต้นยางคนละประมาณ 4-5 ต้น ถ้าต้นไม้ตรงกับหน้าบ้านใด ก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจใส่ทำรั้วล้อมรอบ เพื่อกันวัวควายเข้ามาเหยียบย่ำ หากสัตวเลี้ยงของผู้ใดเหยีบย่ำต้นไม้ที่ปลูกไว้จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และให้หมั่นรดน้ำพรวนดินดายหญ้า ถ้าหากพบว่าต้นยางที่ตนรับผิดชอบตายก็จะต้องนำต้นยางมาปลูกใหม่ (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.ศ. 120 ,ร.ศ. 124) สำหรับต้นยางนาที่ไม่ตรงกับหน้าบ้านผู้ใดจะมอบหมายให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงรับผิดชอบ โดยให้หัวหน้าหมู่บ้านนำลูกบ้านมาช่วยกันดูแลรักษา (เทศบาลตำบลยางเนิ้ง,2546) ด้วยเหตุนี้ต้นยางนาจึงเจริญเติบโตได้ดีและสวยงามมาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้
ซึ่งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 นี้ ยังมีศาลหลักเมือง (ศาลเจ้าแดนเมือง) เชียงใหม่-ลำพูน เป็นสถานที่สำคัญเป็นที่เคารพ สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จากตำนานเมือง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เริ่มต้นจากเจ้าหลวงเมืองลำพูนขณะนั้น ชื่อ เจ้าอนันตยศ และ เจ้ามหันตยศ ได้ออกเดินทางจากเมืองลำพูนมาทางทิศเหนือ เพื่อต้องการหาแนวเขตแดนสิ้นสุดของเมืองลำพูน ว่าสมควรจะอยู่บริเวณใดถึงจะเหมาะสม ซึ่งเจ้าหลวงเมืองลำพูน ได้นั่ง ช้างพัง ชื่อ ช้างปู้กล่ำงาเขียว และขณะนั่งช้างมานั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่ช้าง ปู้กล่ำงาเขียว ได้หยุดพักบริเวณวัดร้าง คืออวัดนางเหลียวแห่งนี้ไม่ยอมเดินทางต่อไปเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เจ้าหลวงเมืองลำพูน จึงกำหนดให้เลือกบริเวณวัดร้างแห่งนี้ เป็นแนวเขตแบ่งระหว่างเมืองลำพูนอและอเมืองเชียงใหม่ โดยเจ้าหลวงเมืองลำพูนได้ใช้ไม้เนื้อแข็งปักเป็นเขตแดนไว้ ต่อมาไม้เกิดการผุกร่อนเนื่องจากถูกแดดถูกฝน เจ้าหลวงจึงสั่งการให้เกณฑ์นักโทษจากเมืองลำพูนจำนวนหนึ่งให้มาช่วยก่อสร้าง โดยใช้วัสดุ คือ ดินเผาและปูนขาว มาโบกแทนหลักไม้เนื้อแข็งเดิม แล้วให้เขียนเป็นสัญลักษณ์ว่า “หลักเขตแดนเมือง เชียงใหม่- ลำพูน” ระหว่างบ้านพี่เมืองน้อง
โดยเรื่องที่น่าทึ่ง!! อีกเรื่อง คือ ครั้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2501 ชาวเชียงใหม่ได้มีโอกาสรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 (ในสมัยนั้น) โดยเสด็จพระราชดำเนินมาบนถนนต้นยาง และทรงแวะพักที่บริเวณ ต้นยางหมายเลข 1 ซึ่งเป็นต้นยางต้นแรกและเป็นสัญลักษณ์หรือหมุดหมายที่บอกจุดสิ้นสุดของจังหวัดลำพูน และ จุดเริ่มต้นของจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันต้นยางประวัติศาสตร์ต้นนั้นยังคงอยู่บริเวณตรงข้ามศาลเจ้าแดนเมือง