top of page

บันทึกการสำรวจทางในยุคอดีต

บันทึกการสำรวจทางในยุคอดีต โดย พันเอกหลวงรังสรรค์พสุธา (นายช่างเอกหัวหน้ากองสำรวจ) จากหนังสือ อนุสรณ์กรมทางหลวงแผ่นดิน 2498

การสำรวจทางในยุคอดีต ช่วงปี พ.ศ.2480 - 2498 งานเบื้องต้นแห่งการทางก่อนที่จะลงมือทำการก่อสร้างเป็นทางจราจรได้ จำเป็นต้องมีการสำรวจเพื่อหาแนวทางเป็นรากฐานได้ในขั้นแรกเสียก่อน งานสำรวจนี้ประกอบด้วยช่างสำรวจคณะหนึ่ง พร้อมด้วยเครื่องมือสำรวจ อาทิเช่น กล้องธีโอโดไลท์, กล้องระดับ, ไม้สต๊าฟ, หลักขาวแดง, โซ่วัดระยะ, และเครื่องอุปโภค บริโภค ตลอดจนยารักษาโรคที่จำเป็นแก่ชีวิตไม่มากมายอะไรนัก มุ่งดั้นด้นไปตามป่า ดงพงไพร ซึ่งห่างไกลจากหมู่บ้านคน ส่วนมาภูมิประเทศเป็นป่า ก็จะได้อาศัยทางเดินของสัตว์ป่า ลัดเลาะเพื่อหาแนวทางซึ่งไม่มีมนุษยเดิน จากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งแผนที่แนวทางและระดับ อันเป็นหลักเบื้องต้นแห่งการสร้างทาง บางแห่งเป็นแนวเขาสลับซับซ้อนกันเป็นทิวแถว ซึ่งนอกจากจะเผชิญกับการเดินป่าแล้วยังต้องปีนป่ายไปตามภูเขา บางแห่งก็เป็นผาลาดชัน มีห้วยเหว และโกรกลึก หากมีความประมาทหรือพลั้งเผลอเพียงนิดเดียว นั้นย่อมหมายถึงอวสานแห่งชีวิตหรือป่วยเจ็บพิการไปตลอด นอกจากนั้นบางตำบลยังต้องผจญกับการป่วยไข้และสัตว์ร้ายในป่า อดยากน้ำและอาหาร เดินทางร่อนเร่ ความลำบากในการสำรวจหาแนวทางที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น กว่าจะได้แนวทางและระดับ ผู้สำรวจจะต้องเสาะหาและพิจารณาให้ได้แนวทางตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

แต่บางครั้งอาจจะได้แนวในการสำรวจครั้งแรกไม่ดี ทั้งนี้เนื่องจาก ผู้สำรวจต้องดั้นด้นไปตามแนวความคิดที่เห็นว่าสมควร ตามที่กล่าวมานี้ย่อมเห็นด้วยว่าผู้ที่จะทำงานสำรวจทางได้สำเร็จ จะต้องเป็นผู้ที่มีนิสัยอดทน บึกบึน และพากเพียร อยู่ในคนนั้น งานที่จะทำจึงจะสำเร็จลุล่วงได้ นอกจากจะมีความรู้ วิชาในหน้าที่และมีอุปนิสัยที่กล่าวมาแล้วนั้น นักสำรวจยังต้องมีความรู้ในวิชาพิเศษหลายอย่างประกอบด้วย 1. ต้องมีความรู้ทางการแพทย์ไปด้วยในตัว เพราะถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นในขณะกำลังทำงานแล้วจะต้องพึ่งตัวเอง ยิ่งถ้าสามารถฉีดยาเองได้ยิ่งดี 2. ต้องมีความรู้ทางการประกอบอาหารเป็นอย่างดี 3. ต้องมีความรู้ในทางการบัญชีประเภทต่างๆ พอประมาณ

จนกระทั้ง ในปี พ.ศ.2480 จึงได้มีแผนกสำรวจขึ้น และให้สังกัดอยู่ในกองทาง ของกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย โดยมีท่านขุนเจนจบทิศ (ชื้น ยงใจยุทธ) เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกสำรวจ ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2484 ได้มีการโอนแผนกสำรวจของกองทาง กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย มาสังกัดอยู่ในกองแบบแผน ของกรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมฯ พ.ศ.2484 และปี พ.ศ.2495 กิจการชองแผนกสำรวจได้ขยายมากขึ้น แนวทางสำรวจก็ได้เพิ่มขึ้นทั่วพระราชอาณาจักร เพราะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น แผนกสำรวจจึงได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็น "กองสำรวจ สังกัดกรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคม" โดยมี ท่านขุนเจนจบทิศ (ชื้น ยงใจยุทธ) หัวหน้าแผนกเดิม ดำรงตำแหน่งนายช่างหัวหน้ากองสำรวจ และได้เกษียณอายุราชการตามวาระ เมื่อ 1 ม.ค. 2497 ต่อจากนั้น กรมทางหลวงแผ่นดินจึงได้ขอโอน พันเอกหลวงรังสรรค์พสุธา (หยั่น เสนาลักษณ์) นายทหารจากกรมแผนที่ทหารบก กระทรวงกลาโหมมาดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองสำรวจแทน โดยมีข้าราชการในสังกัด 42 นาย เมื่อปี พ.ศ.2491 และมี 80 นาย เมื่อปี พ.ศ.2498

งานพิเศษ งานที่ข้าราชการ และพนักงานในกองสำรวจได้ปฏิบัติงานในกรณีพิเศษนอกเหนือไปจากงานปกติ ซึ่งสมควรนับเป็นเกียรติประวัติดังนี้ ในปี พ.ศ.2483-84 ในกรณีพิพาทกับอินโดจีน ฝรังเศส ข้าราชการและพนักงานในกองสำรวจ ภายใต้การบังคับบัญชาของท่านขุนเจนจบทิศ ดำรงตำแหน่งนายช่างกำกับการสร้างทาง กองพลสุรินทร์ ได้ปฎิบัติราชการอย่างทหาร ทำการแทนทหารช่าง สร้างทางลำลองสาย สุรินทร์-ช่องจอม-สำโรง ติดกับกองพลสุรินทร์จนสำเร็จ จนกองทัพเคลื่อนกำลังได้ ในปี พ.ศ.2484 เมื่อเกิดสงครามเอเชียบูรพา ได้สร้างทางลำลองจาก โคกสำโรง-นครสวรรค์-พิษณุโลก-ตาก-แม่สอด เพื่อราชการทหาร ในปี พ.ศ.2485 ขุนเจนจบทิศ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายช่างหัวหน้ากองทางสนาม ท.พายัพ ทำการสร้างทางในสหรัฐไทยเดิมอีก ในปี พ.ศ.2486 โดยคำสั่งของกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ย้ายท่านขุนเจนจบทิศ จากนายช่างกำกับการสร้างทางสนาม ท.พายัพ ไปเป็นนายช่างกำกับการสร้างทางสาย อ.งาว-อ.ด่านซ้าย เพื่อราชการทหารขึ้นกับกองทัพพายัพ ในกรณีที่ข้าราชการในกองสำรวจได้ ปฎิบัติหน้าที่อย่างทหารเพื่อราชการทหาร ดังที่กล่าวมานี้ กระทรวงกลาโหม ได้ให้สิทธิ์ในการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณ รวม 18 นาย

แต่มาในสมัยหลัง พ.ศ.2498 การสำรวจหาแนวทางค่อยๆ สะดวกขึ้น เนื่องจากมีบริการในด้านอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือ เช่น มีแผนที่ภูมิประเทศสำหรับตรวจเลือกแนวทางเป็นขั้นต้นก่อน แล้วจึงนำแนวทางที่วางในแผนที่ ไปหาแนวทางจริงในภูมิประเทศอีกครั้งตามแผนที่ รายละเอียดมาตราส่วน ให้ตรงตามที่เลือกวางแนวทางไว้ เป็นการสะดวกมากขึ้น และได้แนวทางที่ถูกลักษณะพึงประสงค์มากยิ่งขึ้น ส่วนในด้านวิทยาการต่างๆ เจริญมากขึ้น ดังนั้นการสำรวจหาแนวทางก็ยิ่งสะดวก เพราะต่างประเทศได้ทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ ซึ่งกระทำได้ละเอียดและรวดเร็ว ดีกว่าทำจากพื้นดินอย่างแต่ก่อน ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ เพราะเป็นงานที่เรียกว่าพึ่งริเริ่มกระทำ จะให้แล้วเสร็จทันใจไม่ได้ ส่วนในด้านที่เกี่ยวข้องกับกิจการของกรมทางหลวงนั้น กองสำรวจจะได้เริ่มติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ในด้านแผนที่รูปถ่าย เพื่อนำเอาบริการในด้านนี้มาใช้ดัดแปลงแก้ไขช่วยเหลือการสำรวจทางให้ดีขึ้น เช่น ในการตรวจเลือกแนวทางข้ามแม่น้ำที่จังหวัดพิจิตร ได้อาศัยภาพถ่ายทางอากาศ มาทำการตรวจเลือกแนวทางเพื่อให้ ถูกต้องตามความประสงค์ของทางราชการ ซึ่งทำความสะดวกให้ขั้นต้นสำรวจเป็นอันมาก


โพสต์ที่น่าสนใจ
bottom of page