top of page

...ตำนาน ถนนวิภาวดีรังสิต ชื่อนี้มีที่มา...


ถนนวิภาวดีรังสิต

ถนนวิภาวดีรังสิตเปิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2509 เป็นถนนในโครงการพัฒนาถนนร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐ ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับถนนมิตรภาพ กรมทางหลวงได้ขึ้นทะเบียนเส้นทางสายนี้เป็น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 แต่ชาวบ้านสมัยก่อนมักเรียกติดปากว่า “ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์”

จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ตัดริบบิ้นเปิดทางหลวงสายกรุงเทพฯ – สระบุรี ณ บริเวณทางแยกใกล้ลาดพร้าว

พิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเช้าวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๐๙ ณ สี่แยกลาดพร้าว คือ

ทางหลวง สายกรุงเทพฯ – สระบุรี โดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด ท่ามกลางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และแขกผู้มีเกียรติทั้งไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งมาร่วมพิธีอย่างคับคั่ง

ภาพระหว่างการก่อสร้างเพื่อทำผิวจราจรปลายทางซึ่งอยู่ใกล้ทางด้านกรุงเทพฯ

งานก่อสร้างทางตอนแรก จากจังหวัดสระบุรี ถึงหนองแค ระยะทางยาว ๒๑ กม. เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ และก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๔ ตอนจากหนองแค ถึงรังสิต ระยะทางยาว ๕๕ กม. ได้เริ่มก่อสร้างในเดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ทางตอนสุดท้ายจากรังสิต ถึง กรุงเทพฯ ผ่านสนามบินดอนเมือง ระยะทางยาว ๒๘ กม. ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่เดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ถึงเดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทางตอนนี้เป็นตอนเดียวที่สร้างเป็นเส้นทางคอนกรีต ส่วนทางสระบุรี ถึง รังสิต ระยะทางยาว ๗๖ กม. ซึ่งได้ก่อสร้างเป็นผิวทางลาดยางชั่วคราวนั้น ก็ได้ก่อสร้างผิวทางชนิดแอสฟัลติคคอนกรีต

เมื่อแล้วเสร็จ ถนนวิภาวดีรังสิต (Thanon Vibhavadi Rangsit) หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 สายดินแดง - บรรจบทางหลวงหมายเลข 1 (อนุสรณ์สถานแห่งชาติ) เริ่มต้นตั้งแต่เขตพญาไท ผ่านพื้นที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ และเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ไปบรรจบกับถนนพหลโยธินที่ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จากจุดเริ่มต้นที่สามแยกดินแดง (จุดบรรจบถนนดินแดงและเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วน 1 สายดินแดง-ท่าเรือ) ถนนสายนี้ตัดผ่านสี่แยกสุทธิสาร (ตัดถนนสุทธิสาร) ห้าแยกลาดพร้าว (ตัดถนนพหลโยธิน โดยมีถนนลาดพร้าวมาบรรจบเป็นแยกที่ห้า) สี่แยกบางเขน (ตัดถนนงามวงศ์วานหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302) สี่แยกหลักสี่ (ตัดถนนแจ้งวัฒนะหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304) ไปสิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน (จุดบรรจบถนนพหลโยธินหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) มีระยะทางทั้งหมด 23.5 กิโลเมตร

ถนนสายนี้มีลักษณะเป็นทางหลวงพิเศษหรือ superhighway ซึ่งแบ่งช่องทางเดินรถเป็นทางด่วนหรือทางหลัก (main road) และทางคู่ขนาน (frontage road) ยกเว้นช่วงที่ผ่านหน้าท่าอากาศยานดอนเมืองจะไม่แบ่งเป็นช่องทางด่วนและทางคู่ขนานเนื่องจากมีพื้นที่จำกัดเพราะถูกขนาบด้วยสนามบินและทางรถไฟ ปัจจุบันมีทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เป็นทางด่วนพิเศษยกระดับเก็บค่าผ่านทาง อยู่เหนือถนนวิภาวดีรังสิตด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้เดินทางที่ต้องการความรวดเร็วกว่าเดิม

...ตำนาน ถนนวิภาวดีรังสิต ชื่อนี้มีที่มา...

โดยหากย้อนศึกษาพระประวัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวิภาวดี (รัชนี) รังสิต ทรงเป็นพระเป็นธิดาในพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ) ต้นราชสกุลรัชนี และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี

ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2463 ทรงศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และทรงศึกษาหลักสูตรพิเศษเพิ่มเติมอีก 3 ปี โดยพระองค์หญิงทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2485 และเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2489 มีธิดา 2 คน คือ หม่อมราชวงศ์วิภานันท์ รังสิต และหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต

ภายหลังที่พระองค์หญิงทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ทรงรับใช้พระบิดาอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมหมื่นพิทยาลงกรณเป็นที่รู้จักกันดีในวงการหนังสือในนามปากกา "น.ม.ส."ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น กวีเอก ผู้หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระองค์หญิงทรงมีพระปรีชาสามารถทางอักษรศาสตร์เช่นเดียวกับพระบิดา ทรงเขียนเรื่องสำหรับเด็กเมื่อชันษาเพียง 14 ปี โดยใช้นามปากกาว่า "ว.ณ ประมวญมารค" เรื่องที่ทรงแต่งเป็นนวนิยายอมตะและเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้อ่าน อาทิ เรื่อง ปริศนา รัตนาวดี เจ้าสาวของอานนท์ นิกกับพิมพ์ ฯลฯ และได้ทรงประพันธ์หนังสืออีกหลายเรื่อง ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ทุกเรื่องล้วนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์หญิงรับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา ทั้งในประเทศและเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างประเทศ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์หญิงทรงเป็นนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการถึง 23 ประเทศ

จนกระทั่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่า มีตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกับระเบิด 2 คน ด้วยความที่ทรงห่วงใยผู้บาดเจ็บ จึงรับสั่งให้นักบินนำเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับตชด. 2 คนนั้นไปส่งโรงพยาบาล แต่ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส นักบินจึงต้องนำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉิน

แม้ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า พระองค์หญิงยังทรงห่วงใย ตชด.ผู้บาดเจ็บ โดยรับสั่งถามว่า “ตชด.เป็นอย่างไรบ้าง เอาออกมาได้หรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาล อย่าให้พวกมันรู้ว่าฉันถูกยิง มันจะเหิมเกริม” สักครู่รับสั่งต่อไปว่า “ฉันไม่เป็นไรแล้ว ตชด.มาหรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาลด่วน” โดยยังทรงมีพระสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และทรงเป็นห่วง ตชด.ผู้บาดเจ็บตลอดเวลา

ภายหลัง หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ทรงสิ้นชีพิตักษัยที่ ตำบลส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพวงมาลาหน้าโกศพระศพประดับไฟ ด้วยคำไว้อาลัยจากบทพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุดว่า “จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา” แล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์และประถมาภรณ์ช้างเผือก นอกจากนี้หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระสวามียังได้ก่อตั้งมูลนิธิวิภาวดีรังสิตขึ้นเพื่อสืบทอดงานของพระองค์หญิงในด้านการพัฒนา และช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนในท้องถิ่นทุรกันดารทางภาคใต้ ปัจจุบันหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ และภายหลังรัฐบาลได้ประกาศให้ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 แต่ชาวบ้านสมัยก่อนมักเรียกติดปากว่า “ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์” ใช้ชื่อเป็น "ถนนวิภาวดีรังสิต"

ปัจจุบันหากใครมีโอกาสได้สัญจรผ่านไป-มา โดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดีรังสิต ขอจงร่วมกันรำลึกถึงวีรกรรมอันหาญกล้าของพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต วีรสตรีไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงพลีชีพเพื่อชาติจะประทับอยู่ในใจของคนไทยทุกคนตลอดไป.


โพสต์ที่น่าสนใจ
bottom of page