top of page

ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง

      พิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง เป็นพิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานราชการ เปิดดำเนินการเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กันยายน พุทธศักราช 2554 ตรงกับวาระแห่งการครบรอบ ๙๙ สู่ ๑๐๐ ปี ของการก่อตั้งกรมทางหลวง เมื่อปีพุทธศักราช 2542 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ผู้อำนวยการกองฝึกอบรม (ตำแหน่งขณะนั้น) ได้เดินทางไปราชการเพื่อตรวจเยี่ยมการฝึกอบรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมฝ่ายช่างกล อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ พบว่ามีเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และเอกสารหลักฐาน ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกรมทางหลวงในอดีต และทรงคุณค่ายิ่งต่อประวัติศาสตร์งานทางอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดเรื่องการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมเก็บรักษาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ ถึงประวัติ ความเป็นมาด้านงานทาง โดยในเบื้องต้นมอบหมายให้ฝ่ายฝึกอบรมด้านเครื่องกลและไฟฟ้า กองฝึกอบรม ดำเนินการ รวบรวมข้อมูลและจัดทำบัญชี เครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และเอกสารอันทรงคุณค่ากับกรมทางหลวง 

       ในปีพุทธศักราช 2544 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม แต่กองฝึกอบรมยังคงได้รับการส่งมอบเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และเอกสารหลักฐานทางวิชาการต่างๆ ของกรมฯ อย่างต่อเนื่อง 

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2552 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทางหลวง จึงได้นำแนวคิดเรื่องการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กลับมาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง 

และในปีพุทธศักราช 2553 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทางหลวง ท่านได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์อย่างมาก ประกอบกับปีพุทธศักราช 2555 กรมทางหลวง ได้รับการสถาปนาขึ้นครบ 100 ปี โครงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง จึงเป็นวาระสำคัญประการหนึ่งในวโรกาสแห่งการเฉลิมฉลองครั้งนี้ของกรมทางหลวง

      นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง ให้การสนับสนุนและผลักดันโครงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กรมทางหลวงครั้งนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยแต่งตั้งให้ นายชูชาติ ชื่นมงคลสกุล รองอธิบดีฝ่ายดำเนินงาน เป็น ประธานคณะกรรมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง รวมทั้งมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือ ดังนี้ 

1. ศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 1 (พิจิตร) ดำเนินการควบคุมดูแลการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ 

2. สำนักงานภูมิสถาปัตย์งานทาง ดำเนินการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในและภูมิทัศน์รอบอาคาร

    พิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง 

3. สำนักเครื่องกลและสื่อสาร จัดหาและดำเนินการบูรณะเครื่องจักร 

4. สำนักแผนงาน, สำนักบริหารบำรุงทาง และกองการเงินและบัญชี ร่วมกันจัดสรรงบประมาณ

    เพื่อการดำเนินการ ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ 

5. กองฝึกอบรม ฝ่ายเลขานุการ ดำเนินการติดตามผลการดำเนินงานและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องจักร

   เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และเอกสารหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวกับงานทาง

   เพื่อนำมาจัดแสดง นิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง

bottom of page