ครั้งหนึ่ง อดีตประธานธิบดีเกาหลีใต้เคยทำงานที่ประเทศไทย
เมื่อเอ่ยถึง “ถนนเกาหลี” คนกรุงเทพฯ อาจจะนึกถึงถนนสุขุมวิทช่วงซอยนานาจนถึงแยกอโศก เพราะมีร้านอาหารเกาหลีและมีชาวเกาหลีพักอาศัยค่อนข้างมาก แต่สำหรับคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะที่มีอายุ ๓๐ ปีขึ้นไป คำว่า "ถนนเกาหลี" หรือ “บาตะฮ กอลี" ในภาษามลายูปัตตานี จะนึกถึง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๒ ช่วงปัตตานี-นราธิวาสโดยไม่มีทางที่จะนึกถึงถนนเส้นอื่นได้เลย
ทางหลวงหมายเลข 42 หรือ ถนนเกาหลี หรือบาตะฮ กอลี ของคนสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นถนนที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลไทยรับเงินกู้จาก World Bank หรือธนาคารโลกเพื่อสร้างถนนลาดยางความยาว ๑๐๐ กิโลเมตร เริ่มหลักกิโลเมตรที่ ๐ จากบ้านดอนรัก จนสิ้นสุดหลักกิโลเมตรที่ ๑๐๐ ในเขตจังหวัดนราธิวาส
ลุงพรหรือนายสมพร ถาวโร เจ้าหน้าที่ของแขวงการทางจังหวัดปัตตานี ขณะนั้นลุงพรเป็นหัวหน้างานสถิติของแขวงการทางจังหวัดปัตตานี ตำแหน่งหน้าที่จึงต้องเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างถนนเกาหลีเส้นนี้ได้เล่าว่า ถนนเกาหลีเริ่มสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๘ และเสร็จประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๑
โดยมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างคือ บริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัด [Hyun DaiConstruction Co,Ltd.] และมี บริษัท เดอ ลูคาเทอร์ จำกัด [The Lucater Co,Ltd.] เป็นบริษัทที่มาควบคุมงาน ตรวจสอบการก่อสร้างของบริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัด อีกทอดหนึ่ง
บริษัท เฮียนได คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ในภาษาอังกฤษเขียนว่า Hyun Dai คือบริษัทที่เราคุ้นหูว่า ฮุนได ในปัจจุบันนั่นเอง
จากข้อมูลชีวประวัติของนาย ลี มย็อง-บัก [Mr. Yi Myung-bak] ประธานาธิบดีคนที่ ๑๐ สมัยที่ ๑๗ ของเกาหลีใต้อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ท่านนี้เริ่มทำงานครั้งแรกกับบริษัท เฮียนได คอน-สรั๊คชั่น จำกัด เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๕ หรือ พ.ศ.๒๕๐๘ ขณะนั้นอายุประมาณ ๒๔ ปี และงานแรกก็คือ การมาทำงานก่อสร้างถนนเกาหลีหรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔๒ (ปัตตานี-นราธิวาส)
และโครงการรับเหมาก่อสร้างข้ามชาติครั้งแรกของบริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัด ก็คือโครงการสร้างถนน
สายปัตตานี-นราธิวาส หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนเกาหลี” นี่เอง ต่อมาเมื่อเสร็จโครงการนี้นาย ลี มย็อง-บัก ได้กลับไปรับตำแหน่งใหม่ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี และอีกไม่กี่ปีจึงก้าวไปเป็นผู้บริหารของบริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัด
มีเสียงลือจากชาวบ้านแถบอำเภอสายบุรีว่า นายช่างลีชายหนุ่มชาวเกาหลีหลงรักสาวมลายูมุสลิมท้องถิ่นคนหนึ่ง ถึงขนาดไปทาบทามสู่ขอ แต่พ่อของฝ่ายหญิงไม่ยอมยกลูกสาวให้นายช่างลี เพราะไม่อยากได้ลูกเขยที่เป็นมุอัลลัฟ (มุสลิมใหม่)
ลุงพรเล่าให้ฟังว่า ฝรั่งวิศวกรของบริษัท เดอ ลูคาเทอร์ จำกัด เป็นคนที่เคร่งครัดในหน้าที่มาก จนถึงขนาดว่าครั้งหนึ่งวิศวกรฝรั่งคนนี้ตรวจสอบว่าถนนบางช่วงที่ระยะทางราว ๒๐๐ เมตร ประมาณช่วงอำเภอปาลัส ที่บริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัดได้ก่อสร้างไปแล้วนั้น ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าจ้าง คือยังมีโคนต้นมะพร้าวที่ยังเอาออกไม่หมดฝังอยู่ใต้ผิวถนน วิศวกรฝรั่งท่านนี้ถึงกับให้ภรรยาซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซียปิดประตูบ้านพักไม่ยอมให้ผู้บริหารของบริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัด เข้าพบเพราะไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัด มาเจรจาให้สินบนหรือขอร้องใดๆ ทั้งสิ้น จนบริษัทฯ ต้องรื้อถนนช่วงนั้นแล้วก่อสร้างใหม่
ในสมัยที่จะเริ่มมีการก่อสร้างทางเส้นนี้ บรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ต่างก็คาดหมายว่าจะหาทางขายหินแกรนิตให้แก่บริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัดทั้งสิ้น ด้วยความที่คิดว่าบริษัทเกาหลีต้องพึ่งพิงโรงโม่หินในพื้นที่ แต่ปรากฏว่าบริษัทเกาหลีแห่งนี้กลับสร้างโรงโม่หินของตัวเองขึ้นมาเพื่อรองรับการป้อนวัสดุที่จำเป็นในการก่อสร้างถนนที่บริเวณอำเภอปาลัส ปัจจุบันก็ยังปรากฏร่องรอยของโรงโม่หินเกาหลีอยู่ที่ใกล้ๆ กับตลาดปาลัส
นอกเหนือจากการสร้างโรงโม่หินแล้ว บริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัด ยังได้จัดสร้างสวนหย่อมและศาลาชมวิวริมทางทุกวันนี้ยังคงมีร่องรอยสวนสาธารณะที่ทางบริษัท เฮียนได คอนสรั๊คชั่น จำกัด ได้สร้างไว้เป็นที่พักผ่อนของคนงาน มีชื่อที่ชาวบ้านในสมัยก่อนเรียกกันว่า “สวนเกาหลี” ตั้งอยู่บริเวณบ้านเจาะปลิง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีและยังมีร่องรอยของที่พักคนงานอยู่ที่ ตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งคนที่นั่นเรียกบริเวณนั้นว่า “โคกเกาหลี”
ขอขอบคุณ
ที่มาของข้อมูล: จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๑๐๑ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๕๗)
ที่มาของภาพประกอบ: สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย