สะพานร้องไห้ หญิงปริศนา และน้ำตาแห่งอาลัย
ย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ ที่ 23 ตุลาคม 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อทรงเปิดสะพานแห่งใหม่ ซึ่งได้ พระราชทานนามว่า ‘มหาดไทยอุทิศ’ นับเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก Hennebique System ซึ่งเป็นเทคนิคสมัยใหม่ และยาวที่สุดในไทยขณะนั้น สะพานแห่งนี้เดิมรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริจะสร้างขึ้นอยู่แล้ว โดยเป็นสะพานข้ามคลองมหานาคเชื่อมจากปลายถนนบริพัตรฝั่งวัดสระเกศ (ภูเขาทอง) มายังจุดตัดถนนหลายสายบริเวณตีนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เพื่อเชื่อมเส้นทางแก่ประชาชนสัญจรสะดวก แต่ยังไม่ทันเริ่มก่อสร้าง พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย บริจาคเงิน 41,241.61 บาท และรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กรมศุขาภิบาลก่อสร้าง พร้อมสมทบค่าก่อสร้างเพิ่มเติม รวมเป็นเงิน 57,053.29 บาท ทั้งนี้
โดยจุดเด่นของสะพานแห่งนี้อยู่ที่ประติมากรรมนูนต่ำรูปชายจูงมือเด็ก และหญิงอุ้มเด็กในอาการโศกเศร้า หน้าจั่วด้านหัวป้ายมีอักษรย่อ จปร. อีกซุ้มหนึ่งมีเลข ๕ เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงเรียกขานว่า ‘สะพานร้องไห้’ นอกจากนี้ราวสะพานแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยม ภายในบรรจุรูปปั้นหล่อรูปพวงหรีดวงกลมพันด้วยใบลอเรลคั่นกลางด้วยแถบริบบิ้นห้อย และยังมีซุ้มย่อยข้างละ 4 ซุ้ม แต่ละซุ้มแบ่งเป็น 2 ตอน โดยตอนบนประดับรูป ‘ราชสีห์’นูนต่ำ ยืนบนแท่นหันหน้าทิศกลางสะพาน อันแสดงให้เห็นว่าข้าราชการกระทรวงมหาดไทยร่วมใจกันบริจาคเงินก่อสร้าง
โดยประติมากรผู้ปั้นลวดลายนั้นสันนิษฐานว่า เป็นฝีมือของ ‘วิตโตริโอ โนวี’ (Vittorio Novi) ชาวอิตาเลี่ยน ที่เชื่อเช่นนั้น เพราะเขาเข้ามารับราชการตั้งแต่ปี 2455 และเป็นผู้ปั้นลวดลายประดับพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นแบบศิลปะทางเหนือของอิตาลี ซึ่งคล้ายคลึงกับสะพานมหาดไทยอุทิศ อีกประการหนึ่ง คือ ประติมากรรายนี้สามารถนำรายละเอียดแบบตะวันตก ซึ่งปรากฏในซุ้ม ได้แก่ มาลัย พวงหรีด และอุบะ มาประกอบกับภาพเหมือนได้ ซึ่งนับเป็นฝีมือหาตัวจับยาก
ในแง่ความละเอียดลึกซึ้งได้ทำการค้นหาต้นแบบที่จะนำมาเป็นแบบในประติมากรรมครั้งนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กับประติมากรชาวอิตาเลี่ยน วิตโตริโอ โนวี (Vittorio Novi) ได้คัดเลือกตัวชาวบ้านร้านถิ่นเพื่อมาถ่ายรูปเป็นแบบ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเสียส่วนใหญ่เพราะชาวบ้านในสมัยนั้น ยังหวาดกลัวกับการถ่ายรูป เพราะเชื่อว่า กล้องจะดูดเอาวิญญาณไป แต่ก็ได้หญิงชาวบ้านปริศนาไม่ทราบชื่อกับลูกคนหนึ่ง มาเป็นแบบให้ถ่ายรูป ซึ่งสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความอาลัยรัก ความอาดูร ความสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักยิ่งได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นภาพที่ใครได้เห็นต้นฉบับจริงจะต้องน้ำตาซึม ตามอารมณ์ของภาพอย่างแน่นอน ส่วนภาพผู้ชายและเด็กน้อยที่ยีนไหว้นั้น เป็นบ่าวคนหนึ่งของ กรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ ชื่อนายพุ่ม เพิ่งหลุดจากการเป็นทาส สมเด็จฯ ท่านได้ชุบเลี้ยงไว้ และนำมาถ่ายเป็นแบบพร้อมลูกชาย โดยประติมากรชาวอิตาเลี่ยน ได้ปั้นด้วยดินเหนียวก่อนที่จะถอดพิมพ์ด้วยปูนซีเมนต์ แล้วนำขึ้นไปติดกับสะพานที่ออกแบบไว้แล้ว
ปัจจุบันสะพานมหาดไทยอุทิศได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2518 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานขนาด 2 งาน 60 ตารางวา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2548 จึงนับว่าเป็นสะพานที่มีคุณค่าทางสุนทรีย์และประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม อาจารย์จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร ยืนยันว่า ‘มหาดไทยอุทิศ’ เป็นสะพานในกรุงเทพฯ แห่งเดียว ในอดีตที่รถแล่นผ่านได้ และเป็นของแท้ ไม่ได้ถูกขยายออก จึงยังคงสภาพเดิมราว 80-90% ได้รับการออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัท ยูไนเต็ด เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด และมีกระทรวงนครบาลควบคุม
แต่ปัจจุบันได้รับความเสื่อมโทรมไปมาก สะพานแห่งนี้อดีตสร้างรองรับสำหรับรถเจ๊กข้ามทีละคัน ไม่ใช่วิ่งสวนเลนเหมือนปัจจุบัน แต่ได้รับความร่วมมือจากเขตฯ ในการอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรให้ ทั้งนี้ การบูรณะครั้งล่าสุด มีบันทึกเพียงว่า ให้ซ่อมเเซมตามโครงสร้างเดิม และทาสี แต่ไม่ระบุชัดเจนว่า ควรบูรณะอย่างไร
โดยจุดบกพร่องสำคัญ คือ การแก้ไขอย่างจงใจ โดยการปั้นกางเกงในแทนจับปิ้งของเด็กชาย แต่โชคดีที่ภายนอกสะพานอีกด้านหนึ่งไม่มีการแก้ไขเหมือนด้านใน
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักผังเมือง กรุงเทพฯ และภาคเอกชน จัดโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมและลวดลายประดับสะพานข้ามคลองในกรุงเทพฯ โดยเลือกสะพานมหาดไทยอุทิศเป็นกรณีศึกษาแรก เนื่องจากมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2557 คณะทำงานได้ทำการสืบค้นและรวบรวมเอกสาร ภาพถ่าย หลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา, การสำรวจสภาพ ลวดลายปูนปั้นประดับสะพาน, การบันทึกแบบลวดลายประดับสะพานด้วยเทคนิควาดเส้น, การทำแม่พิมพ์และหล่อปลาสเตอร์ลวดลายประดับสะพาน, การบันทึกข้อมูลลวดลายประดับสะพานแบบสามมิติโดยใช้เทคโนโลยี 3D Scanning, การสำรวจความเห็นชุมชนต่อความเป็นมรดกเมือง และการเขียนแบบสะพานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ความพิเศษของโครงการนี้ที่สำคัญ นั่นคือ การทำ 3D Scanning ซึ่งเป็นวิธีการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ซึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะในต่างประเทศนิยมใช้ เนื่องจากสามารถเก็บรักษาสำเนา 3 มิติไว้ได้จำนวนมาก โดยไม่ต้องใช้พื้นที่จริงในการเก็บ ทำให้รักษาได้ยาวนาน ซึ่งเมื่อคณะทำงานสแกนผ่านชั้นสี กลับพบว่า หลายจุดมีการทาชั้นสีหนามากเกินไป จนกลบรายละเอียดบางจุด เเละเเทบทุกจุดมีรอยชำรุด
‘สะพานมหาดไทยอุทิศ’ ในปัจจุบันได้รับความเสียหายมาก และมีความเสี่ยงสูงทำให้คุณค่าทางสุนทรีย์ลดลง ดังนั้นการเก็บข้อมูลด้านต่าง ๆ จากประติมากรรมและลวดลายประดับที่สร้างขึ้นจึงมีความสำคัญ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการอนุรักษ์ต่อไป เพราะสะพานแห่งนี้ เป็นหนึ่งใน “เพชรน้ำงาม” ของ “มรดกเมือง” ที่ยังหลงเหลืออยู่ของกรุงเทพมหานคร