top of page

เรื่องเล่า ยักษ์แบกเสา บนถนนวิภาวดีรังสิต


ถนนวิภาวดีรังสิต หลายคนที่สัญจรไปมาบนถนนวิภาวดีรังสิต คงจะต้องเคยสังเกตเห็นบางอย่างของ เสาทางด่วน ดอนเมืองโทลล์เวย์ หรือ ทางยกระดับอุตราภิมุข ที่แตกต่างไปจากเสาอื่น ซึ่งมีเสาอยู่ 2 ต้น ที่มี รูปปั้นยักษ์ท่าทางเหมือนกำลังยืนแบกเสา อยู่

เรื่องเล่าของยักษ์ 2 ตนนี้เริ่มมาจากเมื่อปี พ.ศ 2535 ในระหว่างการดำเนินการก่ออสร้างทางด่วนดอนเมือง การก่อสร้างเกิดมีอุปสรรคมากมาย มีทั้งข่าวลือเรื่องคนตาย และเรื่องเล่าเกี่ยวกับอาถรรพ์ต่างๆ ที่ทำให้การก่อสร้างไม่ราบรื่น จนกระทั่งจะทำการยกเสาต้นแรกที่แยกสุทธิสารขึ้น ซึ่งทำวิธีไหนยังไงก็ยกไม่ขึ้นและพอสร้างมาถึงแยกลาดพร้าว ที่ต้องยกระดับเหินขึ้นข้ามแยกลาดพร้าว พอสร้างเสา และคาน ได้ไม่กี่วัน พังลงมาทับคนงานตายเป็นแบบนี้หลายครั้งมาก ทั้งๆ ที่ทำถูกตามหลักวิศวกรรมแล้วแก้ยังไงก็ไม่หาย คานถล่ม สร้างต่อไม่ได้ มีคนงานตายเยอะแยก ใช้วิธีแก้เคล็ดโดยการแกะสลักรูปปั้นยักษ์ ทำท่าแบกเสา อยู่สองต้นขาออกตรงแยกสุทธิสารและขาเข้าก่อนข้ามแยกลาดพร้าว

แต่ก็มีคนในพื้นที่เล่าว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีเหตุการสยองขวัญตามที่ถูกเล่าต่อๆ กันมา แต่อย่างใด แต่ ยักษ์ สองตนนั้นถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความมั่นคง ความแข็งแรงให้กับประเทศชาติตามความเชื่อทางศาสนาเท่านั้นเอง

ยักษ์แบกนั้นไม่ได้มีแค่ตรงเสาทางด่วน แต่ปรากฏอยู่ในหลายสถานที่ ทั้งวัดและโบราณสถานต่างๆ เช่น วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรือแม้แต่ตำนานกรีกโบราณก็ปรากฎเรืองราวของ

แอตลาส เทพผู้แบกสวรรค์ เมื่อวัฒนธรรมอินเดียปะทะสังสรรค์กับกรีก-โรมัน จึงมีการหยิบยืมเอายักษ์แอตลาสผู้ทำหน้าที่แบกสวรรค์มาช่วยแบกสถูป เพื่อให้สถูปกลายเป็นศูนย์กลางโลกหรือจักรวาลนั่นเอง จะเห็นได้ว่า ในวัดวาอารามต่างๆ มักจะมียักษ์มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของวัดหรือโบราณสถาน

ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นยักษ์แบกเจดีย์ในวัดพระแก้ว รูปปั้นยักษ์แบกองค์พระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งตามตำนานเล่าว่า "พระพุทธเจ้าได้เทศน์สั่งสอนยักษ์ให้ลดทิฐิมานะ ยักษ์ที่ได้ฟังและเข้าใจในพระธรรมจึงได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึงผู้แบกสรวงสวรรค์และทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสถูปสถาน และอาคารศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่งคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา"

ปัจจุบัน ยักษ์ทั้งสองตนนั่นก็ยังคงทำหน้าที่อยู่ตรงบริเวณทางลงสะพานข้ามแยกสุธิสารฝั่งขาออก 1 ตน และ ทางลงสะพานห้าแยกลาดพร้าวฝั่งขาเข้า อีก 1 ตน ถึงแม้จะมีตำนานมากมายเกี่ยวกับเรื่องราวของการแบกที่แตกต่างกันออกไปทั้งรูปแบบของการแบกหรือความเชื่อต่างๆ ตามบริบทของในแต่ละวัฒนธรรมดังที่กล่าวไปข้่งต้น แต่ตามความเชื่อของไทย การแบกของเหล่าพลแบกเป็นไปเพื่อค้ำชูและปกปักรักษา ซึ่งสิ่งที่แบกเอาไว้ ดังนั้นการที่มียักษ์ 2 ตน อยู่ที่เสาของทางด่วนดอนเมืองนั้นก็ เพื่อให้เหล่ายักษ์คอยปกปักรักษา และ ค้ำชูเสาตั้นนั้นๆ ให้แข็งแรงก็เป็นได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนไม่มีความรอบคอบหรือขาดสติในขณะขับรถ หรือมีพฤติกรรมความเสี่ยงจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุแล้วนั้น แม้แต่ยักษ์ที่แบกเสาเอาไว้ก็คงไม่สามารถช่วยเหลือเราไว้ได้ ถ้าเราไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเราเอง จริงไหมคะ?


โพสต์ที่น่าสนใจ
bottom of page